สมาคมจักรยานฯ สนองนโยบาย “บิ๊กป้อม” นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้เต็มรูปแบบ ในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติเพื่อลุยศึกใหญ่

“สองล้อ” สนองนโยบาย “บิ๊กป้อม” นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติไทยเพื่อสู้ศึกใหญ่ในปี 2566 ทั้งการเก็บคะแนนคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024, ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่…

สมาคมจักรยานฯ สนองนโยบาย “บิ๊กป้อม” นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้เต็มรูปแบบ ในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติเพื่อลุยศึกใหญ่

สมาคมจักรยานฯ สนองนโยบาย “บิ๊กป้อม” นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้เต็มรูปแบบ ในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติเพื่อลุยศึกใหญ่

“สองล้อ” สนองนโยบาย “บิ๊กป้อม” นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติไทยเพื่อสู้ศึกใหญ่ในปี 2566 ทั้งการเก็บคะแนนคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024, ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จีน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ไปทำการทดสอบสมรรถภาพร่างกายและเจาะเลือดหาค่าแลคเตทของนักกีฬา เพื่อเป็นข้อมูลให้สตาฟฟ์โค้ชไปวางแผนการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาแต่ละคน 
S01พลเอกเดชา_เหมกระศรี
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติไทยระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการใหญ่ในปี 2566 ได้แก่ การแข่งขันรายการระดับนานาชาติเพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส, การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬา จากทีมงานระดับอาชีพมาตรวจวิเคราะห์สมรรภาพร่างกายนักกีฬาเพื่อวางโปรแกรมฝึกซ้อม ทั้งนี้ เป็นการสนองนโยบายของ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่เน้นย้ำให้แต่ละสมาคมกีฬานำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
S03
พลเอกเดชา กล่าวว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาดังกล่าว สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้รับความร่วมมือจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดย นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งได้มอบหมายให้คณะนักวิทยาศาสตร์การกีฬาชุดใหญ่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นางวัชรี แสวงไวศยสุข หัวหน้างานทดสอบสมรรถภาพกีฬา, ผศ.ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา, ดร.อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬา พร้อมเจ้าหน้าที่กองวิทยาศาสตร์กีฬา อีก 7 คน เข้าร่วมในกระบวนการทดสอบร่างกายนักปั่นไทยประเภทถนน, ลู่ และเสือภูเขา ทั้งชาย-หญิง ซึ่งเก็บตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม
S05
“เสธ.หมึก” กล่าวอีกว่า ในกระบวนการทดสอบดังกล่าวใช้วิธีการเจาะเลือดระหว่างที่นักกีฬาแต่ละคนออกแรงตามที่กำหนด เพื่อหาค่าสารเคมีในเลือด นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เก็บไว้ในช่วงเวลาที่นักกีฬาแต่ละคนมีความฟิตสูงสุด เพื่อให้ผู้ฝึกสอนแต่ละประเภทได้นำข้อมูลนี้ไปออกแบบการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาในปัจจุบัน และระยะเวลาการฝึกซ้อมของการแข่งขันแต่ละรายการ โดยจะเริ่มต้นศึกใหญ่รายการแรกคือ การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2023” ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2566 เส้นทางจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออก ต่อด้วยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2566
S07
นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการเจาะเลือดหาค่าแลคเตท (Lactate) สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับความร่วมมือจาก มร.ไว มุน เยียง และ มร.ปีเตอร์ พูลลี่ ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ซึ่งจะนำค่าเลือดที่ได้เข้าประมวลผลในซอฟต์แวร์ แอทเลติก เพอร์ฟอมานซ์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ทีมจักรยานอาชีพระดับโปรทีมและนักกีฬาอาชีพชั้นนำทั่วโลกใช้ ดังนั้นค่าต่าง ๆ ที่ตรวจวัดและประมวลผลจะมีความเที่ยงตรง ทำให้คณะผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ทั้ง “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ในประเภทถนน, “โค้ชนพ” ร.ต.อ.อดิศักดิ์ วรรณศรี ในประเภทลู่ และ จ.อ.เสรี เรืองศิริ ในประเภทเสือภูเขา สามารถนำไปใช้ออกแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละคน เพื่อที่จะรีดเอาศักยภาพสูงสุดของนักกีฬาออกมาได้ในระหว่างการแข่งขันที่นักกีฬาทีมชาติไทยจะต้องออกไปตระเวนแข่งขันเกือบตลอดทั้งปี 2566
S09
พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการทดสอบสมรรถภาพร่างกายดังกล่าวแล้ว ยังมีคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.กภ.สมรรถชัย จำนงค์กิจ หัวหน้าภาควิชา, ผศ.ดร.กภ.ภัทรพร สิทธิเลิศพิศาล รองหัวหัวภาควิชา, ดร.กภ.บุษบา ฉั่วตระกูล, ดร.กภ.โศธิดา นันตระกูล, กภ.สุพัชชา กองหาโคตร พร้อมด้วย น.ส.พระพร กิจเกื้อกูล และ น.ส.พรชลิตา โกมุทรัตนานนท์ นักโภชนาการ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ มาแล้วกว่า 5 ปี จะเข้ามาร่วมตรวจวิเคราะห์สภาพกล้ามเนื้อและแกนกลางร่างกายในส่วนที่สำคัญสำหรับนักกีฬาจักรยาน เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหรือตรวจรักษากรณีที่มีอาการบาดเจ็บอีกทางหนึ่ง โดยกำหนดเข้ามาตรวจวิเคราะห์ร่างกายนักกีฬา ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม
“จะเห็นได้ว่าในระบบการพัฒนานักกีฬาจักรยานไทยยุคปัจจุบัน สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ นำเอาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนงที่จำเป็นสำหรับนักกีฬามาปรับใช้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานนักกีฬาจักรยานไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และไม่เฉพาะแต่นักปั่นระดับทีมชาติหรือทีมอาชีพเท่านั้น แต่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ยังร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะในด้านไบโอแมคคานิคส์ (Biomechanics) หรือชีวกลศาสตร์ มาพัฒนานักกีฬาจักรยานรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเสริมทีมชาติไทยในอนาคตข้างหน้าอีกทางหนึ่งด้วย” พลเอกเดชา กล่าวเสริม
ด้าน “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ในฐานะรองประธานฝ่ายเทคนิค และหัวหน้าผู้ฝึกสอนประเภทถนน เปิดเผยว่า การทดสอบสมรรถภาพร่างกายและการเจาะเลือดนักกีฬาเพื่อหาค่าแลคเตท โดยทีมงานจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย มีประโยชน์มากในการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา เพราะทำให้สตาฟฟ์โค้ชรับทราบข้อมูลว่าควรจะวางโปรแกรมฝึกซ้อมที่เหมาะสมให้แก่นักกีฬาแต่ละคนอย่างไร นอกจากนี้นักปั่นประเภทถนนทุกคนได้ติดตั้งอุปกรณ์เพาเวอร์มิเตอร์บนจักรยานเพื่อวัดกำลัง และสมรรถภาพของนักกีฬา ซึ่งหน่วยจะออกมาเป็นวัตต์ โดยในส่วนของนักปั่นทีมเสือภูเขา ท่านพลเอกเดชา ได้อนุมัติงบประมาณให้จัดซื้ออุปกรณ์เพาเวอร์มิเตอร์ มาติดตั้งให้ครบทุกคนเรียบร้อยแล้ว
“โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งประเภทถนน, ลู่ และเสือภูเขา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่ฝึกซ้อม ที่พัก และอาหาร ซึ่งท่านพลเอกเดชา ได้กำชับมาว่าต้องดูแลความเป็นอยู่ของนักกีฬาให้ดี อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ต้องขอขอบพระคุณท่านนายกสมาคมฯ เป็นอย่างสูง ที่มีความห่วงใยและดูแลนักกีฬาจักรยานด้วยดีมาโดยตลอด สำหรับนักกีฬาจักรยานทุกคนต่างก็ตั้งใจฝึกซ้อม และอยู่ในระเบียบวินัย ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ ก็ขอฝากถึงแฟนกีฬาจักรยานช่วยส่งแรงใจมาให้นักปั่นไทยเตรียมทีมสู้ศึกใหญ่ในปี 2566 โดยสามารถส่งข้อความไปที่เฟซบุ๊ก Thaicycling Association เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้นักกีฬามีพลังในการทำผลงานให้แก่ประเทศชาติต่อไป.